i-Synes.com

ตะกร้า 0

วิธีวัดความเข้มแสง ที่เหมาะกับต้นไม้

วิธีวัดความเข้มแสง ที่เหมาะกับต้นไม้

การปลูกต้นไม้นั้น มีปัจจัยให้พิจารณามากมายทั้งเรื่องของขนาด ชนิดพันธุ์ การดูแล และตำแหน่งที่ปลูก โดยเฉพาะเรื่องของแสงแดดที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโต และการมีไม้ดอกไม้ประดับช่วยเพิ่มบรรยากาศในบ้านให้ดูสดชื่นมีชีวิตชีวาได้เป็นอย่างดี.....


 

การจะหาต้นไม้สักต้นมาใส่กระถางวางไว้ในบ้านสำหรับมือใหม่แล้ว อาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย การให้แสงสว่างที่เหมาะสมจึงช่วยให้ต้นไม้สามารถเจริญเติบโตได้อย่างดีและมีรูปทรงสวยงาม เพราะ การปลูกต้นไม้นั้น มีปัจจัยให้พิจารณามากมายทั้งเรื่องของขนาด ชนิดพันธุ์ การดูแล และตำแหน่งที่ปลูก โดยเฉพาะเรื่องของแสงแดดที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโต และการมีไม้ดอกไม้ประดับช่วยเพิ่มบรรยากาศในบ้านให้ดูสดชื่นมีชีวิตชีวาได้เป็นอย่างดี

แต่ พืชชนิดต่างๆ มีความต้องการแสงแดดที่แตกต่างกัน เพื่อใช้ในการคายน้ำและการสังเคราะห์แสง (Photosynthesis) โดยปริมาณความเข้มแสงในระดับต่าง ๆ จะส่งผลทำให้ต้นไม้มีรูปทรงและสีของใบที่เปลี่ยนไปได้ เช่น ต้นไทรที่ปลูกกลางแจ้งจะมีใบสีเขียว ทรงพุ่มฟูแน่น แต่หากย้ายเข้ามาปลูกในร่ม ใบก็อาจจะเบาบางลงผิดกับตอนที่ปลูกกลางแจ้ง จึงควรเลือกต้นไม้ให้เหมาะกับความเข้มแสงแต่ละช่วงวัน จึงแนะนำ วิธีง่ายๆ วัดความเข้มแสงในห้อง

วิธีวัดแสง ที่รวดเร็วและง่ายๆ ด้วยมือเปล่า

วิธีวัดแสง ที่รวดเร็วและง่ายๆ ด้วยมือเปล่า
สำหรับการตรวจสอบวัดปริมาณความเข้มของแสงสว่าง (intensity) ในบ้าน วิธีที่รวดเร็วและง่ายที่สุด คือ การทดสอบด้วยมือและเงา โดยให้นำกระดาษหรือพื้นผิวระนาบเรียบอื่น ๆ มารองเป็นพื้นหลัง จากนั้นให้ยกมือขึ้นมาห่างจากพื้นหลังประมาณ 1 ฟุต หรือ 1 ไม้บรรทัด แล้วมองเงาของมือ
– มองไม่เห็นเงาหรือเห็นเงาจางมาก บริเวณนั้นได้รับแสงน้อย
– มองเห็นเงา แต่ค่อนข้างเบลอและคลุมเครือ บริเวณนั้นมีแสงปานกลาง
– มองเห็นเงาได้ชัดเจน บริเวณนั้นมีแสงมากหรือได้รับแสงโดยตรง

ช่วงเวลาที่วัดแสงในห้อง


ช่วงเวลาที่วัดแสงในห้อง
เวลาเหมาะสมในการทดสอบ คือ ช่วงที่แสงจ้าหรือแรงที่สุดในบ้าน เช่น ถ้าหน้าต่างหันไปทางทิศตะวันออก ให้ทดสอบในช่วงเช้า หรือหากหน้าต่างหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ให้ทดสอบในช่วงบ่ายประมาณ 15.00-18.00 น. ดังนั้น ทิศทางของตำแหน่งห้องและช่องประตูหน้าต่าง ก็มีผลต่อระดับของแสงภายในห้องด้วยเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ เรายังอาจวัดปริมาณแสงในห้องด้วย เครื่องวัดความเข้มแสง (Light Meter) หรือ ลักซ์มิเตอร์ (Lux meter) ซึ่งมีหน่วยเป็น Lux (ลักซ์) หรือ FC (Foot candle) ในสภาพแวดล้อมที่ถูกกำหนดไว้ได้เช่นเดียวกัน

วัดความเข้มแสง 4 ระดับ ที่เหมาะกับต้นไม้

วัดความเข้มแสง 4 ระดับ ที่เหมาะกับต้นไม้
แสงที่เข้ามาในบ้านเรา มักจะมีความสว่างและความเข้มแสงที่แตกต่างกันของช่วงเวลา เราจึงควรมองหาต้นไม้ที่เหมาะกับแสงแต่ละช่วงวันที่เข้ามากระทบในห้องให้เหมาะสม ซึ่งแบ่งได้เป็น 4 ระดับ

 

แสงทางตรง แรงจัด (Bright Direct Light / Full Sun)

1.แสงทางตรง แรงจัด (Bright Direct Light / Full Sun)

พื้นที่ที่โดนแสงแดดจัดส่องถึงโดยตรง เป็นพื้นที่ที่สว่างที่สุดในบ้าน มักจะอยู่บริเวณระเบียง ดาดฟ้า หรือ ริมหน้าต่างที่ไม่มีอะไรกั้นระหว่างต้นไม้กับแสงแดด เว้นแต่กระจกใส ซึ่งต้นไม้ในบ้านส่วนใหญ่มักไม่ชอบแสงแดดที่ตรงและแรงจัด เนื่องจากแสงที่มากเกินไป ทำให้ต้นไม้แสดงอาการผิดปกติออกมา เช่น ใบเปลี่ยนสี เหี่ยวเฉา หรือเกิดรอยไหม้จากแดด จึงมีเพียงต้นไม้ไม่กี่กลุ่มที่สามารถทนความร้อนและแสงแดดได้ดี เช่น กลุ่มไม้อวบน้ำ (Succulents) อย่าง อากาเว่ ว่านหางจระเข้ และแคคตัส กลุ่มไม้ดอก อย่าง กุหลาบ ว่านสี่ทิศ โฮย่า ชวนชม เฟื่องฟ้า และกลุ่มพืชที่มีใบหลากสี อย่าง ฤาษีผสม โกสน หมากผู้หมากเมีย ดาดตะกั่ว เพราะ พืชเหล่านี้จะปลดปล่อยพลังงานที่สะสมไว้ออกมาได้อย่างรวดเร็ว จึงต้องการแสงสว่างเป็นจำนวนมาก เพื่อนำไปใช้ในการสังเคราะห์แสงและสร้างอาหารขึ้นมาใช้ให้เพียงพอ

แสงทางอ้อม สว่างและคงที่ (Bright Indirect Light)


2.แสงทางอ้อม สว่างและคงที่ (Bright Indirect Light)

พื้นที่ที่ได้รับแสงสว่างอย่างเพียงพอและเต็มวันประมาณ 6 – 8 ชั่วโมง แต่อาจจะมีระดับความเข้มของแสงรองลงมา ส่วนใหญ่มักจะอยู่ห่างจากหน้าต่างประมาณ 1 – 2 เมตร และไม่อยู่ในเส้นทางของแสงอาทิตย์โดยตรง หรือได้รับแสงในช่วงบ่าย ทางด้านทิศใต้หรือทิศตะวันตกเฉียงใต้ แต่มีการกรองแสงออกบางส่วน หรือสะท้อนผ่านจากพื้นผิวอื่นที่ไม่ใช่แสงแดดโดยตรง เช่น เงาจากต้นไม้ใหญ่ หลังคาไม้ระแนง หรือม่านโปร่งแสง ซึ่งพรรณไม้สวนใหญ่สามารถนำมาจัดวางได้ในบริเวณนี้ โดยเฉพาะกลุ่มไม้ประดับที่มีใบสวยงาม ชอบแสงแดดเต็มวัน แต่ไม่ทนต่อแดดแรงโดยตรง เช่น ไม้จำพวกบอนสี สนฉัตร หนวดปลาหมึก กล้วยไม้ ไอวี่ ทิลแลนด์เซีย และไทรใบสัก

แสงสว่างปานกลาง ร่มรำไร (Medium Light)

3.แสงสว่างปานกลาง ร่มรำไร (Medium Light)

บริเวณที่มีความเข้มแสงปานกลางได้รับแสงแดดโดยเฉลี่ยประมาณ 2 – 4 ชั่วโมงต่อวัน มักจะอยู่ในตำแหน่งกลางห้อง ที่ห่างจากหน้าต่างออกมา เช่น ห่างจากหน้าต่างที่หันไปทางทิศตะวันออกหรือทิศตะวันตก ประมาณ 2 – 2.5 เมตร หรือ ห่างจากหน้าต่างที่หันไปทางทิศใต้หรือทิศตะวันตกเฉียงใต้ ประมาณ 2.5 – 3.5 เมตร รวมไปถึงบริเวณใกล้หน้าต่าง ที่หันไปทางทิศเหนือ ที่ได้แสงแดดยามเช้า ซึ่งมีความเข้มแสงและความร้อนจากดวงอาทิตย์ยามบ่ายน้อยกว่าจากทิศอื่น ๆ โดยพรรณไม้ที่เหมาะสมส่วนใหญ่เป็นไม้ในเขตร้อนชื้น ที่มีวิวัฒนาการจากการเจริญเติบโตได้ดีบนพื้นป่าที่มีแสงสว่างเพียงพอ แต่ถูกกรองผ่านพุ่มไม้สูงของต้นไม้และเถาวัลย์ เช่น กลุ่มปาล์ม เฟิน เศรษฐีเรือนใน สับปะรดสี ยางอินเดีย มอนสเตอรา ฟิโลเดดรอน หูเสือ และพลูด่าง ซึ่งหลายชนิด นอกจากจะช่วยเพิ่มบรรยากาศให้บ้านดูสดชื่นมีชีวิตชีวาได้แล้ว ยังช่วยฟอกอากาศ เพิ่มออกซิเจน และดูดซับสารพิษภายในห้องได้อีกด้วย

แสงสว่างน้อย ในร่มเงา(Low light)


4.แสงสว่างน้อย ในร่มเงา(Low light)

พื้นที่ที่มีความเข้มแสงต่ำมักจะได้รับแสงธรรมชาติเพียงเล็กน้อยจากหน้าต่างบานเล็ก หรืออยู่ห่างไกลจากหน้าต่าง อยู่ใกล้บริเวณที่มีร่มเงาหนาแน่น ถูกบดบังด้วยอาคารหรือต้นไม้ รวมถึงมุมมืดในบ้านที่อาจได้รับเพียงแสงประดิษฐ์จากหลอดไฟเท่านั้น ซึ่งพรรณไม้ที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับแสงน้อยได้ มักจะเป็นพืชที่มีใบสีเขียวสดหรือเขียวเข้ม เนื่องจากจะมีคลอโรฟิลล์อยู่อย่างหนาแน่น ทำให้สามารถสังเคราะห์แสงได้ในปริมาณมาก และเก็บสะสมอาหารไว้ได้นาน แต่จะมีอัตราการเจริญเติบโตช้ากว่าพืชชนิดอื่น เช่น บัวดอย หน้าวัว คล้า ลิ้นมังกร เขียวหมื่นปี เดหลี และกวักมรกต แต่หากนำพืชชนิดอื่นที่ต้องการแสงมากมาไว้ในบริเวณนี้ อาจทำให้ต้นไม้แสดงอาการผิดปกติออกมาได้ เช่น สีของใบที่เข้มผิดปกติ หรือกิ่งก้านที่ยาวเก้งก้างไม่แข็งแรงและยืดออกไปในทิศทางที่มีแสงส่องถึง

Tips ต้นไม้ทุกชนิดย่อมต้องการแสงเพื่อใช้ในการสังเคราะห์แสง ดังนั้น การตั้งกระถางต้นไม้ไว้ในที่ร่มนานเกินไปอาจทำให้ต้นไม้อ่อนแอลงได้ จึงควรหมั่นนำต้นไม้ในบ้านออกไปรับแสงแดดด้านนอกบ้าง โดยค่อย ๆ ให้ต้นไม้ได้รับแสงเพิ่มทีละนิด ไม่ควรนำออกไปไว้บริเวณที่แดดจัดทันที เพราะอาจจะเกิดอาการใบไหม้ได้ และเมื่อต้นไม้เริ่มกลับมาสดใสมีชีวิตชีวาอีกครั้ง จึงค่อยนำมาตั้งไว้ในร่มได้ตามเดิม

Cr.บ้านและสวน,โครงการพัฒนาคลังความรู้ดิจิทัล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์